การปะทุครั้งแรก: 20 มีนาคม ของ การปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553

การปะทุเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

การปะทุเกิดขึ้นทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ ระบบภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ รายงานการพบเห็นครั้งแรกเกิดขึ้นราว 23:00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช โดยกลุ่มเมฆสีแดงถูกพบเห็นที่ภูเขาไฟ การปะทุเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงและการเปลี่ยนลักษณะในอัตราสูงในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าการปะทุ ประกอบกับหินหนืดซึ่งเติมพลังให้กับภูเขาไฟ[7]

รอยแยก

รอยแยกที่เกิดขึ้นมีความยาว 500 เมตรในแนวตะวันออกเฉียงเหนือไปยังตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีปล่องราว 10-12 ปล่องปล่อยลาวาซึ่งมีอุณหภูมิราว 1,000 องศาเซลเซียสพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 150 เมตร โดยลาวาเป็นหินบะซอลต์แอลคาไลโอลิวีน[8] ลาวาดังกล่าวค่อนข้างหนืด ทำให้การเคลื่อนของกระแสลาวาไปทางตะวันตกและตะวันออกของรอยแยกเกิดขึ้นได้ช้า การปะทุดังกล่าวจึงจัดเป็นการปะทุพ่น[9] รอยแยกแห่งใหม่เปิดออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยห่างจากรอยแยกแห่งแรกออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 200 เมตร มันมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย จากข้อมูลของนักธรณีฟิสิกส์ รอยแยกทั้งสองที่เกิดขึ้นนี้มาจากกะเปาะหินหนืดแห่งเดียวกัน ไม่มีกิจกรรมแผ่นดินไหวที่ผิดปกติเมื่อรอยแยกนี้ปรากฏขึ้น และไม่มีการขยายตัวของเปลือกโลกใด ๆ จากข้อมูลที่ได้จากเครื่องวัดการสั่นสะเทือนและเครื่องบันทึกจีพีเอสต่าง ๆ ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ใกล้เคียง[10][11]

รอยแยกแห่งที่สองเมื่อมองจากทิศเหนือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานีเรดาร์ของสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งไอซ์แลนด์ไม่ตรวจพบปริมาณเถ้าตกจากภูเขาไฟในปริมาณที่ตรวจวัดได้ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการปะทุ[12] อย่างไรก็ตาม ระหว่างคืนวันที่ 22 มีนาคม มีรายงานเถ้าตกในหมู่บ้านฟลีโยตส์ฮลีท (ห่างจากจุดที่เกิดการปะทุออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 20-25 กิโลเมตร) และเมืองควอลส์เวอตลูร์ (ห่างจากจุดที่เกิดการปะทุออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร) ทำให้ยานพาหนะต่าง ๆ ถูกปกคลุมด้วยชั้นเถ้าภูเขาไฟสีเทา ราว 7.00 น. ของวันที่ 22 มีนาคม การระเบิดครั้งหนึ่งได้ส่งพวยเถ้าถ่านสูงขึ้นไปในอากาศถึง 4 กิโลเมตร[13] เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 เกิดการปะทุไอน้ำขนาดเล็กขึ้น เมื่อหินหนืดร้อนออกมาสัมผัสกองหิมะซึ่งอยู่ใกล้เคียง ทำให้ปล่อยไอน้ำขึ้นไปถึงความสูง 7 กิโลเมตร และสามารถตรวจพบได้โดยเรดาร์ของสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งไอซ์แลนด์ นับตั้งแต่นั้นมา การปะทุไอน้ำก็ได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง[14] และวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553 รอยแยกแห่งใหม่ก็ได้เปิดขึ้นบนภูเขาไฟ[15]

ผลกระทบต่อน้ำ

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 อุปกรณ์เครื่องวัดอัตราการไหลซึ่งตั้งอยู่ ณ แม่น้ำธารน้ำแข็งครอสเซาเริ่มต้นบันทึกการเพิ่มระดับของน้ำและอุณหภูมิของน้ำอย่างกะทันหัน โดยรวมแล้ว อุณหภูมิของน้ำเพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียสในเวลาสองชั่วโมง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ในแม่น้ำครอสเซานับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดเป็นต้นมา ไม่นานนักหลังจากนั้น ระดับน้ำก็กลับคืนสู่ระดับปกติและอุณหภูมิของน้ำก็เริ่มลดลงด้วยเช่นกัน[16] เชื่อกันว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำมีความเกี่ยวข้องกับการปะทุของภูเขาไฟที่อยู่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่อบางส่วนของบริเวณลุ่มน้ำครอสเซา อุณหภูมิของแม่น้ำฮรูเนาซึ่งไหลผ่านหุบเขาฮรูเนาร์กิล อันเป็นบริเวณที่บางส่วนของสายลาวาได้ไหลลงไป ก็มีการบันทึกโดยนักธรณีวิทยาว่ามีอุณหภูมิระหว่าง 50-60 องศาเซลเซียส ซึ่งบ่งชี้ว่าแม่น้ำลดความร้อนของลาวาที่อยู่ในหุบเขานั้น[17]

การวิเคราะห์

ตัวอย่างของเถ้าภูเขาไฟที่เก็บได้จากบริเวณใกล้พื้นที่การปะทุแสดงถึงซิลิกาเข้มข้นร้อยละ 58 ซึ่งสูงกว่าในกระแสลาวาที่ไหลออกมา[18] ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ละลายน้ำได้คิดเป็น 1 ใน 3 ของความเข้มข้นในการปะทุของภูเขาไฟเฮคลา โดยมีค่าเฉลี่ยของฟลูออไรด์อยู่ที่ 104 มิลลิกรัมต่อเถ้าหนึ่งกิโลกรัม เกษตรกรรมมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ของไอซ์แลนด์อย่างมาก[19] และเกษตรกรใกล้กับภูเขาไฟได้รับคำเตือนมิให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำจากลำธารหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ[20] เพราะฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงสามารถส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อไตและตับในสัตว์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแกะ)[21]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553 http://www.skybrary.aero/index.php/Volcanic_Ash http://www.fotopedia.com/en/2010_eruptions_of_Eyja... http://www.life.com/image/first/in-gallery/41852/e... http://vimeo.com/11008464 http://www.dmu.dk/International/News/vulcanicplume... http://www.geo.mtu.edu/volcanoes/hazards/primer/te... http://cimss.ssec.wisc.edu/goes/blog/archives/4872 http://earthobservatory.nasa.gov/NaturalHazards/ev... http://www.nasa.gov/topics/earth/features/iceland-... http://www.noaa.gov/features/03_protecting/volcani...